“วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” พรรคก้าวไกล ร่ายยาว โพสต์เฟซบุ๊ก เมื่อประเทศไทยมาถึงทางเลือก ที่ประชาชนต้องตัดสินใจ
วันที่ 18 ส.ค. 66 นาย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความลงเพจ “Wiroj Lakkhanaadisorn – วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ระบุว่า
“เมื่อประเทศไทยมาถึงทางเลือก ที่ประชาชนต้องตัดสินใจ สวัสดิการถ้วนหน้า และความมั่นคงในชีวิต VS การขอความเมตตา และการขอรับการริจาคและการสงเคราะห์,สวัสดิการประชาชน VS งบซื้ออาวุธ, สวัสดิการมาจากภาษีของประชาชน ที่ประชาชนพึงได้รับอยู่แล้ว VS สวัสดิการเป็นบุญคุณที่ประชาชนต้องสำนึก”
“การใช้จ่ายงบประมาณเพื่อแก้ปัญหา VS ถุงยังชีพที่เบิกมาแจกทุกปี เนื่องจากการเกิดขึ้นของปัญหาเดิมๆ, สวัสดิการประชาชน คือ Growth factor ของระบบเศรษฐกิจ VS สวัสดิการประชาชน คือ ภาระค่าใช้จ่ายของรัฐ, การศึกษาที่เติมเต็มศักยภาพให้แก่เด็ก โดยโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่เด็กกล้าที่จะตั้งคำถาม และสนุกกับการคิดสร้างสรรค์ VS การศึกษาที่เป็นกลไกในการทำให้คนคิดเหมือนๆ กัน โดยโรงเรียนมีหน้าที่ทำให้เด็กคุ้นชินกับการกดขี่”
“การศึกษาที่เป็นกลไกในการผลิตลูกจ้างเพื่อป้อนตลาดแรงงาน VS การศึกษาที่มุ่งทำให้ทุกๆ คนสามารถวิ่งตามความฝันของตัวเอง , การกระจุกอำนาจ และงบประมาณไว้ที่ส่วนกลาง VS การกระจายอำนาจ และงบประมาณสู่ท้องถิ่น, ความเท่าเทียม และความเสมอภาค VS การยอมรับว่าคนเราเกิดมาไม่เท่ากัน แข่งอะไรก็แข่งได้ แต่แข่งบุญแข่งวาสนาไม่ได้, ชีวิตที่มีความหวังกับอนาคต VS การยอมรับชะตากรรม และอยู่อย่างเจียมเนื้อเจียมตัว”
“กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน VS กองทัพที่ทำตัวเป็นรัฐซ้อนรัฐ , โอกาสในการตั้งตัวที่เท่าเทียมกัน VS ทุนผูกขาด , การกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม VS การที่เครือข่ายอุปถัมภ์ฮุบสัมปทานแบบกินรวบไว้ทั้งหมด, ระบบภาษีที่เป็นธรรม VS ระบบภาษีที่มีช่องว่างทางกฎหมาย ที่ให้นายทุนหลบเลี่ยงไม่จ่ายภาษีได้ ,การเติบโตในหน้าที่การงานอย่างเป็นธรรม VS ระบบตั๋ว ระบบฝาก และการซื้อขายตำแหน่ง , กฎหมายทันสมัย ที่คำนึงถึงประชาชนทุกกลุ่มอย่างรอบคอบรอบด้าน VS กฎหมายล้าหลัง ที่ให้อำนาจในการใช้ดุลพินิจอย่างล้นเกิน จนเอื้อต่อการรีดไถเรียกรับผลประโยชน์ , รัฐโปร่งใส VS รัฐเงินทอนคอร์รัปชั่น”
“ระบบบ้านใหญ่ VS ประชาชนเป็นใหญ่, ราชการที่รับใช้ประชาชน VS ราชการที่เป็นมือไม้ให้นักการเมือง ,นิติสงคราม VS นิติรัฐ , องค์กรอิสระ ที่เผด็จการกดปุ่มได้ VS องค์กรอิสระที่ยึดโยงกับประชาชน , สว.250 ที่มาจากเผด็จการ VS สภาเดี่ยว หรือถ้าจำเป็นต้องมี สว. สว. ก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง, รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน VS รัฐธรรมนูญ 60 , Soft Power ที่สอดรับกับกระแสโลก VS ความดีย์ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมใช้ยกหาง และใช้สำเร็จความใคร่ทางศีลธรรมให้แก่ตนเอง, นวัตกรรม และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เท่าทันโลก VS ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่คอยฉุดรั้งความเจริญของประเทศ,ทุนต่างชาติสีเทา ที่สามารถซื้อข้าราชการระดับสูงกลุ่มหนึ่งให้เป็นลูกสมุน จนตนเองสามารถอยู่เหนือกฎหมาย VS ประชาชนทุกคนมีความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย”
“ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ VS ประชาชนเหมือนเช่าเขาอยู่ ,นักการเมืองเป็นเจ้านายประชาชน VS ประชาชนเป็นเจ้านายนักการเมือง ,พรรคการเมืองเป็นเจ้าของประชาชน VS ประชาชนเป็นเจ้าของพรรคการเมือง ,การหาเสียง คือ การให้คำมั่นต่อประชาชน ที่ต้องพยายามทำตามที่พูดให้ได้ หากไม่สามารถทำได้ ก็ต้องมีคำอธิบายที่สมเหตุสมผลต่อประชาชน VS การหาเสียง คือ การรณรงค์ให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงจากการเลือกตั้ง พอเลือกตั้งเสร็จแล้ว ประชาชนก็หมดความหมาย”